เกี่ยวกับเรา

โครงสร้างและการบริหารจัดการระบบผ่อดีดี

ร่างโครงการจัดตั้งศูนย์ผ่อดีดีกลาง

1. โครงการ จัดตั้งศูนย์ผ่อดีดีกลาง
2. เหตุผลความจำเป็น
    ระบบเฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียวผ่อดีดีของชุมชน ได้เริ่มพัฒนาและทดลองติดตั้งใช้งานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วยงบประมาณตั้งต้นจากมูลนิธิสโกล เป็นระบบเฝ้าระวังโรคระบาดในคน สัตว์ สาธารณภัยและภัยทางสิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของและได้รับประโยชน์โดยตรงเป็นสำคัญ นอกจากจะเป็นระบบเฝ้าระวังของชุมชนที่ไม่เคยมีมาก่อนในที่แห่งใดแล้ว จากการทดลองใช้งานในสองปีแรกยังพบว่าเป็นระบบที่สามารถควบคุมและป้องกันโรคระบาดและโรคระบาดใหญ่ข้ามทวีปที่ได้ผลจริง อันเกิดจากความร่วมมือจากชุมชนในการรายงานอย่างรวดเร็วผ่านแอปพลิเคชั่นผ่อดีดี ทำให้ระบบสามารถจับสัญญาณการระบาดได้อย่างทันทีทันใด และด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้มีการประมวลผลและแจ้งข่าวสารเพื่อทำการควบคุมเหตุระบาดโดยอัติโนมัติในทันที เป็นเรียลไทม์
ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ได้ผลเป็นที่ประจักษ์และการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของจาก อปท. ทำให้เกิดความต้องการและการขยายการใช้ระบบผ่อดีดีไปใน อปท. อื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่  จากเดิม 75 อปท.ในระยะเริ่มต้นปัจจุบันมีผู้ใช้ระบบ 108 อปท. อาสาสมัครผ่อดีดีเพิ่มจาก 300 คน เป็นมากกว่า 4500 คน ระบบสามารถตรวจจับเหตุโรคระบาดในคนและสัตว์ได้มากกว่า 70 ครั้ง ในช่วงสองปีแรกของการใช้ระบบ ซึ่ง 1 ใน 7 ครั้ง เป็นเหตุระบาดในสัตว์ปีกที่หากควบคุมไม่ได้อาจมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ
ด้วยตระหนักในผลดีที่จะใช้ระบบเพื่อป้องกันการระบาดใหญ่ข้ามทวีปไปในขอบเขตระดับนานาชาติ มูลนิธิสโกลได้อนุมัติการสนับสนุนโครงการในระยะที่สองเพื่อหารูปแบบการขยายพื้นที่การใช้ระบบผ่อดีดีไปในจังหวัดอื่นของประเทศไทยและไปในประเทศอื่นๆ    ซึ่งจากการดำเนินงานขยายระบบไปในจังหวัดเชียงราย จังหวัดขอนแก่นและในเครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา พบว่าระบบทำงานได้ผลดียิ่งเช่นเดียวกับที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการตอบรับและต้องการใช้งานระบบผ่อดีดีอย่างแพร่หลาย ตลอดจนหน่วยราชการระดับกรมที่เกี่ยวข้อง 4 กรม คือ กรมควบคุมโรค กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมปศุสัตว์ และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จาก 4 กระทรวง ได้ตอบรับเป็นกรรมการที่ปรึกษาของโครงการผ่อดีดี เพื่อร่วมกำหนดรูปแบบ/แนวทางการขยายระบบไปใช้ในระดับประเทศ ในโอกาสต่อไป
นอกจากเจตนาการสร้างระบบเพื่อให้เกิดการใช้งานที่ตอบสนองต่อสาธารณะประโยชน์  รูปแบบของตัวระบบและการใช้งานที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน หน่วยราชการและเอกชน ที่เกี่ยวข้อง และผลลัพธ์เชิงบวกทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ระบบผ่อดีดีมีโอกาสส่งอิทธิพลถึง ตั้งแต่ในระดับชุมชนรากหญ้า ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับนานาชาติแล้ว การใช้ระบบผ่อดีดียังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เรื่อง“ไทยแลนด์ 4.0” และเรื่องสุขภาพหนึ่งเดียวอย่างมากอีกด้วย   จึงเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะขยายและพัฒนาการใช้ระบบผ่อดีดีไปในระดับประเทศ  ซึ่งทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการข้อมูลและให้บริการเชิงระบบเพื่อบำรุงรักษาระบบผ่อดีดี ประสานประโยชน์และพลังจาก 4 ภาคีเครือข่าย คือ ภาคชุมชน/อปท ภาคราชการ ภาคเอกชน และภาควิชาการ รวมทั้งเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านการเฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว แก้ไขและบรรเทาปัญหายุ่งยากซับซ้อนของประเทศและโลกปัจจุบัน

3.วัตถุประสงค์
    3.1 เป็นศูนย์สารสนเทศบริหารจัดการความรู้และข้อมูลของระบบผ่อดีดี สร้างองค์ความรู้ใหม่ในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาด ป้องกันการระบาดใหญ่ข้ามทวีป และการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภัยทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งเดียว โดยเน้นบทบาทและการทำงานของ อปท.
    3.2 เพื่อบำรุงรักษาและให้บริการเชิงระบบรวมทั้งพัฒนาเครื่องมือและระบบผ่อดีดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบดิจิทัลและระบบงานสนับสนุนที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบผ่อดีดี (เซอร์ฟเวอร์ แอปพลิเคชั่นและแผงตรวจติดตามระบบงานผ่อดีดี มาตรฐานคุณภาพของศูนย์ปฏิบัติการสุขภาพหนึ่งเดียวระดับตำบล แผนเผชิญเหตุฉุกเฉินในชุมชน หลักสูตรอบรมพัฒนาอาสาผ่อดีดี และเจ้าหน้าที่)
    3.3 เพื่อบริหารจัดการทั่วไประบบผ่อดีดี การให้สิทธิ์ใช้ระบบและข้อมูล การขยายเครือข่าย การทำงานและการประสานงานและ/หรือร่วมดำเนินงานกับ อปท. และจังหวัด ตลอดจนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ใช้ระบบผ่อดีดีและที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งรักษาประโยชน์สาธารณะผ่านคณะกรรมการอำนวยการที่ประกอบด้วยผู้แทนระดับกรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ
    3.4 เป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัยที่มิได้มุ่งแสวงกำไรแต่ให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ผ่านการสนับสนุนวิชาการ การบริการวิชาการ การวิจัยและพัฒนา และกองทุน เพื่อความยั่งยืนของระบบผ่อดีดี

4.เป้าหมายโครงการ
    4.1 เป็นศูนย์สารสนเทศ บริหารจัดการข้อมูลของระบบผ่อดีดี สร้างองค์ความรู้ใหม่ในการเฝ้าระวังควบคุมโรคระบาด ป้องกันการระบาดใหญ่ข้ามทวีป และการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และภัยทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งเดียว โดยเน้นบทบาทและการทำงานของอปท.
4.2 บำรุงรักษาและให้บริการเชิงระบบ รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือและระบบผ่อดีดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบดิจิทัลและระบบงานสนับสนุนที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบเฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียวของชุมชน
4.3 การจัดการทั่วไป ที่เกื้อหนุนและมุ่งรักษาประโยชน์สาธารณะ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
4.4 หน่วยงานอิสระภายใต้การบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย โดยไม่แสวงหาผลกำไร แต่เป็นกึ่งพึ่งพาตนเองเพื่อความยั่งยืน ให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ผ่านการบริการวิชาการ และกองทุน เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา(โดยเฉพาะผ่านบัณฑิตศึกษา) และเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบผ่อดีดี

5.กลุ่มเป้าหมายโครงการ
5.1 องค์กรโรคระบาดในคนและในสัตว์ องค์กรสาธารณภัยที่ต้องใช้แนวทางทำงานสุขภาพหนึ่งเดียว ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
5.2 อปท. อาสาสมัครผ่อดีดี หน่วยราชการ เอกชน ที่ใช้ระบบ
5.3 หน่วยงานที่สนใจใช้ระบบ/ข้อมูล
5.4 หน่วยงานราชการ เอกชน มูลนิธิ องค์กรนานาชาติ

6.ตัวชี้วัดเป้าหมายโครงการ
6.1 ฐานข้อมูลผ่อดีดี ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด  4000  หน่วยงาน ในปีที่ 5 การแจ้งเตือนและระงับภัย/โรคระบาด 30 ครั้ง/ปี/จังหวัด ผลงานตีพิมพ์ด้านการเฝ้าระวังอย่างน้อย 2 ผลงาน/ปี เริ่มปีที่ 3
6.2 ค่าบริการการใช้ระบบ จากผู้ใช้ 4000 หน่วยงาน ในปีที่ 5 ผลผลิตจากการพัฒนาระบบด้านต่าง ๆ ปีละ ๑ ผลงาน/ด้าน
6.3 กระบวนการให้สิทธิ์ มอบรหัสการใช้ระบบและการเข้าถึงข้อมูล จำนวนผู้ใช้ระบบและ รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี
6.4 ตั้งแต่ปีที่ ๔ หลังการจัดตั้ง รายได้จากการบริการการใช้ระบบข้อมูลและรายได้อื่นๆ รวมกัน ไม่น้อยกว่ารายจ่ายหมวดค่าจ้างและงบดำเนินการของศูนย์ ในปีหนึ่งๆ

7. กิจกรรม - วิธีดำเนินการ
7.1 จัดการ รวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูล จำแนก แลกเปลี่ยน เผยแพร่ข่าวสาร ทั้งเพื่อสร้างรายได้ และประโยขน์สาธารณะ กำหนดประเด็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากฐานข้อมูล และสนับสนุนการวิจัยโดยเฉพาะผ่านกิจกรรมบัณฑิตศึกษา
7.2 เช่าเซอร์ฟเวอร์ พัฒนาแอพฯ และแผงตรวจติดตามระบบงานผ่อดีดี พัฒนามาตรฐานคุณภาพของศูนย์ปฏิบัติการสุขภาพหนึ่งเดียวตำบล แผนเผชิญเหตุฉุกเฉินชุมชน หลักสูตรอบรมพัฒนาอาสาผ่อดีดี และเจ้าหน้าที่
7.3 กำหนดกระบวนการ ผ่านคณะกรรมการอำนวยการอันประกอบด้วยผู้แทนกรม ที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ   ดำเนินการให้สิทธิ์ใช้ระบบและข้อมูล การขยายเครือข่าย การทำงานและประสานงานร่วมกันระหว่าง อปท และจังหวัดที่ใช้ระบบ ผ่อดีดี และกับหน่วยงานราขการ เอกชนที่เกี่ยวข้อง  
7.4 ขออนุมัติคณะและมหาวิทยาลัยในการแต่งตั้งกรรมการบริหารและบรรจุพนักงาน

8. ตัวชี้วัดกิจกรรม
    8.1 เกิดระบบการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ที่มีการเข้ารหัสตามลำดับชั้นความลับ ข้อมูลถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง มีนักศึกษาบัณฑิตศึกษาใช้ข้อมูลจากระบบผ่อดีดีผลิตผลงานทางวิชาการอย่างน้อย 3 ผลงานต่อปี
    8.2 มีเครื่องมือดิจิทัลที่ใช้ในการตรวจจับและเฝ้าระวังเหตุผิดปกติสุขภาพหนึ่งเดียว คน สัตว์ สิ่งแวดล้อมและสาธารณภัย ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งานในระดับชุมชนเป็นสำคัญ และยังสามารถพัฒนาต่อยอดได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ เดือนละ 1 ครั้ง อปท.สามารถใช้แผนเผชิญเหตุฉุกเฉินชุมชนในการระงับและแก้ไขปัญหาได้ ร้อยละ 50 ของเหตุที่เผชิญ
    8.3 มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ผ่อดีดีกลาง ทุก 3 เดือน มีการพิจารณาให้สิทธิ์ผู้ขอใช้งานระบบผ่อดีดีทุก 1 สัปดาห์ และมีการตรวจติดตามหน่วยงานผู้ขอใช้งาน ปีละ 2 ครั้ง
    8.4 เป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัยและได้รับการบรรจุตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในศูนย์ผ่อดีดีกลางให้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

9. ระยะเวลาดำเนินการโครงการ (5 ปี)
     ตุลาคม 2561 -  30 กันยายน 2566

10.หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ
    ศูนย์ผ่อดีดีกลาง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

11. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นศูนย์ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคระบาดระดับชาติและนานาชาติ เป็นผู้นำด้านสุขภาพหนึ่งเดียวในการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดและโรคระบาดใหญ่ข้ามทวีป ประเทศไทยปลอดภัยจากไข้หวัดนกและโรคอุบัติใหม่และภัยอันตรายอื่นๆ ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยน่าเที่ยวและครัวของโลก
2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ด้านโรคระบาดและภัยธรรมชาติ ระดับชุมชน มีศักยภาพเชิงวิชาการที่จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตและมีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างยิ่ง
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางวิชาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การป้องกันภัยพิบัติโรคระบาดที่สังคมและภูมิภาคมีความการต้องการ
4. ชุมชนเข้มแข็งใช้ประโยขน์เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเป็นผลและมีผลลัพธ์ทางบวกเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจทั้งระดับชุมชนและระดับชาติมหาศาล
 

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเรา