Disable Preloader

ข่าวสาร



นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ทุกกระทรวงดำเนินงานตามมาตรการลด คัดแยกขยะภายในหน่วยงานภาครัฐ โดยกำหนดเป้าหมาย 5 เรื่อง

ได้แก่
1) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดและคัดแยกขยะ
2) อาคารของหน่วยงานภาครัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ ดำเนินกิจกรรมการลดและคัดแยกขยะ
3) ขยะของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องส่งกำจัดลดลงอย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์
4) หน่วยงานภาครัฐลดการทิ้งแก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งและถุงพลาสติกหูหิ้วของหน่วยงาน 10 เปอร์เซ็นต์ และ
5) งดใช้โฟมบรรจุอาหารในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนและภาคเอกชนในการจัดการขยะและลดปริมาณขยะ สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ เนื่องจากพลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายด้วยตัวเอง เป็นสารสังเคราะห์ โดยเฉพาะถุงพลาสติกเป็นขยะที่พบจำนวนมาก ซึ่งในภาพรวมพบว่าขยะพลาสติก 50 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี และต้องใช้พื้นที่ฝังกลบสูงถึง 3 เท่า อีกทั้งหากนำไปเผาจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สารก่อมะเร็ง รวมทั้งก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

“ทั้งนี้ สถานการณ์การใช้พลาสติกของกรมอนามัย พบว่า บุคลากรในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใช้พลาสติกประมาณ 14 ชิ้นต่อคนต่อวัน หรือประมาณ 18 ล้านชิ้นต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วประมาณ 4 ล้านใบต่อปี ซึ่งรับมาจากร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า และตลาดนัด และพบว่าร้านค้าในกรมอนามัยมีการใช้ภาชนะพลาสติกประมาณ 2 ล้านชิ้นต่อปี นอกจากนี้ในการจัดอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการประชุม มีการใช้    ขวดน้ำพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องพลาสติก และช้อน ส้อมพลาสติก ก่อให้เกิดขยะพลาสติกประมาณ 93,600 ชิ้นต่อปี กรมอนามัยจึงได้รณรงค์ให้บุคลากรกรมอนามัยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิร่วมกันลดใช้พลาสติก โดยกำหนดมาตรการเพื่อยึดถือปฏิบัติ 1) บุคลากรและร้านค้าของกรมอนามัย งดใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารและห้ามนำภาชนะโฟมเข้ามาในกรมอนามัย 2) บุคลากรของกรมอนามัย ลดใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก และภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยให้ร้านค้า ร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณกรมอนามัย งดให้ถุงพลาสติกกับลูกค้าทุกวันพุธ ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในบริเวณกรมอนามัย ลดราคาให้แก่ผู้ที่นำแก้วหรือภาชนะส่วนตัวมาใส่น้ำหรืออาหาร และแจกแสตมป์แลกแต้มลดพลาสติก สำหรับผู้ที่ไม่รับถุง แก้ว หรือภาชนะพลาสติก เพื่อสะสมและนำมาแลกรางวัลกับกรมอนามัย รวมถึงลดการใช้ภาชนะที่เป็นพลาสติก สำหรับจัดอาหารกลางวัน อาหารว่าง และเครื่องดื่มในการประชุมของกรมอนามัย โดยให้ใช้วัสดุอื่นที่สามารถใช้ซ้ำได้หรือย่อยสลาย  ได้ง่ายแทน และ 3) บุคลากรและร้านค้าในกรมอนามัยทิ้งขยะลงถังและแยกขยะให้ถูกต้อง ถ้าหากทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน จะทำให้ลดปัญหาในการกำจัดขยะพลาสติก และลดมลพิษที่จะส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ข้อมูลและภาพ ที่มา http://www.bangkokbiznews.com

Tags: ผ่อดีดี,PODD,พีโอดีดี,ศูนย์ผ่อดีดีกลาง