Disable Preloader

ข่าวสาร



ในปัจจุบันนี้ เป็นที่เห็นได้ชัดว่า เทรนด์การเลี้ยงและดูแลสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ เช่น สุนัข แมว และนก ประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก


และแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย โดยจะเห็นได้จากการพัฒนาไปของอุปกรณ์เพื่อสัตว์เลี้ยง ซึ่งในปัจจุบันมีความแปลกใหม่ หลากหลาย และทันสมัยเป็นอย่างมาก รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ hang out ของคนรุ่นใหม่ยังรองรับการนำสัตว์เลี้ยงไปยังสถานที่ดังว่าอีกด้วย
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ดูเหมือนจะสวนทางกับกระแสความคิดเห็นที่มีต่อร่างกฎหมายควบคุมและคุ้มครองสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของผู้เลี้ยง เฉกเช่นการสวนทางกันของกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีและบริบททางสังคมที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กฎหมายไทยยังคงล้าหลังอยู่กับที่และไม่สอดรับกับสิ่งรอบข้างซึ่งเปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย
ผู้เขียนจึงขอหยิบยกกฎหมายเพื่อการควบคุมและการคุ้มครองสัตว์เลี้ยงที่มีการบังคับใช้ในประเทศเยอรมนี ซึ่งได้แก่ The Animal Protection Act และ German Animal Welfare Act ขึ้นเปรียบเทียบกับกฎหมายหรือร่างกฎหมายของประเทศไทยเราในเรื่องนี้
กฎหมายของประเทศเยอรมนีกำหนดเอาไว้ว่า การจะมีสุนัขในเยอรมนีต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของ “Hundesteuer” ซึ่งหมายถึง “ภาษีสุนัข”
ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ได้ยกเลิกภาษีสุนัข ในศตวรรษที่ 20 แต่เยอรมนียังคงปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายในส่วนนี้ กรุงเบอร์ลินสามารถจัดเก็บภาษีสุนัขได้รวมแล้วถึงปีละประมาณ 11 ล้านบาท การเก็บภาษีสุนัขนั้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกันว่าเจ้าของสุนัขจะเป็นผู้มีใจรักในสัตว์เลี้ยงของตน มีวินัยและความใส่ใจอย่างแท้จริงไว้ รวมถึงเพื่อจำกัดจำนวนผู้เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ กระบวนการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงในเยอรมนียังมีความซับซ้อน อันอาจจะเห็นได้จากการรับอุปการะสัตว์เลี้ยงจากสถานสงเคราะห์สัตว์ในเยอรมนีอีกด้วย อาทิ ผู้เลี้ยงจะต้องกรอกเอกสารที่จำเป็นจะต้องระบุรายละเอียดหลักฐานประจำตัวประชาชนและสำเนา “Anmeldung” หรือหลักฐานที่แสดงว่าอาศัยอยู่ในเยอรมนี หลังจากนั้นจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมซึ่งครอบคลุมตลอดถึงการดูแลการฉีดวัคซีน microchippingและ spay หรือการทำหมันอีกด้วย
ทั้งนี้เพื่อการคุ้มครองสัตว์เลี้ยง ผู้เลี้ยงชาวเยอรมันจะได้รับคำถาม ตั้งแต่ขนาดบ้านและสวน ตลอดจนถึงเวลาทำงานและครอบครัว รวมไปถึงการบังคับการจัดทำประกันภัยสัตว์เลี้ยง (“Hundehaftpflichtversicherung”) ซึ่งเป็น “ประกันภัยความรับผิดอันเนื่องมาจากสุนัข” โดยตรง ในกรณีที่เกิดความเสียหายหรืออุบัติเหตุบางประการมีสาเหตุมาจากสุนัขที่เลี้ยงอีกด้วย อาจสรุปได้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมีสัตว์เลี้ยงในประเทศนี้ มีความครบถ้วน รัดกุม และครอบคลุมทุกขั้นตอนในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อย้อนกลับมามองการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายในกรณีดังกล่าวและปฏิกริยาของเหล่าผู้ที่เรียกตนเองว่าคนรักสัตว์ในประเทศไทย
ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดบังคับให้ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เนื่องจากกฎหมายเดิมใน พ.ศ. 2557 ยังไม่ปรากฏบทบัญญัติให้ต้องมีการควบคุมทะเบียนสัตว์เลี้ยง อันเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุแห่งปัญหาทำให้เกิดการทอดทิ้งสัตว์ สำหรับกฎหมายฉบับนี้จะเน้นการควบคุมทางทะเบียนเพิ่มความรับผิดชอบเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยให้ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติในการขึ้นทะเบียนสัตว์ ถ้าไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืน จะมีระวางโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถเปรียบเทียบปรับได้ และค่าปรับจะตกเป็นรายได้ของท้องถิ่น ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนใช้กับสัตว์เลี้ยงทุกประเภท แต่เบื้องต้นเริ่มที่ “สุนัขและแมว” ก่อน โดยกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเอาไว้ดังนี้ คำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท สมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท และเครื่องหมายประจำสัตว์ตัวละ 300 บาท
วัตถุประสงค์ของการบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงคือการควบคุมการขยายปริมาณของสัตว์เลี้ยงซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่ทว่าปัญหาของการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงก็คือ การที่ยังไม่ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประชากรสัตว์เลี้ยงที่แท้จริงและผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเก็บค่าธรรมเนียมซึ่งกรมปศุสัตว์ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมได้ ส่วนปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลคือการนำสุนัข-แมวไปทิ้ง กลายเป็นสัตว์จรจัด ซึ่งอาจจะเกิดจากผู้เลี้ยงที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงตามกระแสที่อาจนำสัตว์เลี้ยงไปทิ้ง หรือกรณีผู้ประกอบธุรกิจจากฟาร์มเลี้ยงหมา-แมว ที่ได้ทำการขยายพันธุ์มากจนไม่อาจขายได้หมดจึงนำไปทิ้งเป็นสัตว์จรจัด ซึ่งตรงจุดนี้กฎหมายยังไม่เข้าไปควบคุมดูแล โดยการบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงมุ่งบังคับใช้กับประชาชนทั่วไปที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากกว่าที่จะเข้าไปควบคุมภาคธุรกิจ
เมื่อพิจารณาจากการสำรวจมุมมองของเจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายรายในประเทศไทยแล้ว จะพบว่ากลุ่มคนรักสัตว์หลายรายไม่ยินดีที่จะชำระค่าธรรมเนียม และจัดการขึ้นทะเบียนรวมไปถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายประจำทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งสวนทางกับพฤติกรรมที่แสดงออกในการมอบความรักความห่วงใยให้กับสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง กล่าวคือ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีช่องโหว่ เช่น การโอนอำนาจให้กับท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าในพื้นที่ของตนนั้นจะสามารถเลี้ยงสัตว์อะไรได้บ้าง และเป็นจำนวนเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงสุนัข หน่วยงานท้องถิ่นอาจมองว่าการเลี้ยงสุนัขอาจก่อให้เกิดความรำคาญ และกำหนดให้เลี้ยงได้บ้านละ 1-2 ตัว ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนเพื่อจัดระบบในกฎเกณฑ์ภาครัฐมากกว่าที่จะเป็นการคุ้มครองคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง และการจัดระเบียบสังคมอย่างแท้จริง
น่าคิดว่าภายใต้บริบทของประเด็นคำถามที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงนี้ ปฏิกิริยาของผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงและหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยยังคงสะท้อนความห่วงใยต่อสัตว์เลี้ยงอย่างแท้จริงหรือไม่.
โดย...

ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ข้อมูลและภาพ ที่มา http://www.bangkokbiznews.com

Tags: ผ่อดีดี,PODD,พีโอดีดี,ศูนย์ผ่อดีดีกลาง