Disable Preloader

ข่าวสาร



แม้จะยังไม่ทราบว่า การหายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ในช่วง 1 เดือนของคนกรุงเทพฯ จะไปการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในระยะยาวได้หรือไม่

แต่การวิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่นละอองจากการเผา ของนักวิจัย มช. ได้พบสารก่อมะเร็งจำนวน 16 ชนิด
ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการวิจัย การติดตามตรวจสอบการเผาในที่โล่งในภาคเหนือของประเทศไทยสำหรับการประเมินการปล่อยและการเคลื่อนที่ของมลพิษทางอากาศเพื่อการวางแผนการจัดการปัญหาหมอกควัน โดยการสนับสนุนของหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่(ABC)สกว. - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ฝุ่นละอองที่ได้จากการทดลองเผาชีวมวลประเภทต่างๆ ที่เก็บมาจากแปลงข้าวและข้าวโพดรวมถึงเศษไม้เศษใบไม้ในผืนป่าเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พบสารก่อมะเร็งในกลุ่มพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ถึง 16 ชนิด โดยสารเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และชีวมวลต่าง ๆ ที่เมื่อรับสารกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องยาวนาน จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้
“เนื่องจากสารแต่ละชนิดมีความเป็นพิษที่ไม่เท่ากัน การจะรู้ว่าคนในพื้นที่นั้นมีความเสี่ยงนี้มากน้อยเพียงใด จึงต้องทราบถึงชนิดและปริมาณสารก่อมะเร็งในฝุ่นขนาดเล็กที่ปกคลุมอยู่ในบริเวณนั้นเสียก่อน กับค่าความเป็นพิษของสารแต่ละตัว ไปเป็นหนึ่งในตัวแปรเพื่อคำนวณค่าความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งจากการหายใจของประชากรของพื้นที่นั้นออกมา และทำให้รู้ว่าประชากรแต่ละกลุ่มนี้ในพื้นที่แห่งนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจากการได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในระยะยาว มากน้อยเพียงใด”



ผศ.ดร.สมพร กล่าวว่า แม้การจะบอกค่าถึงความเสี่ยงนี้ต้องใช้ข้อมูลอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก และมีปัจจัยที่ต้องนำมาประกอบอีกหลายตัว แต่ผลจากการวิจัยฝุ่นในอากาศครั้งก่อนหน้านี้ เราพบว่า สารก่อมะเร็งกลุ่มดังกล่าวจะมีปริมาณแปรผันตามค่าความเข้มข้นของฝุ่นในอากาศ หมายความว่าถ้ามีปริมาณฝุ่นในอากาศมีค่าสูง ก็มีแนวโน้มที่สารอันตรายดังกล่าวซึ่งเป็นองค์ประกอบของฝุ่นก็จะมีค่าสูงตามไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นความเสี่ยงของประชากรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ซึ่งมีโอกาสได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กมีค่าเกินมาตรฐานเป็นประจำ
“จุดที่น่าเป็นห่วงมากกว่ากรุงเทพฯ ก็คือพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน ซึ่งรวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กมาร่วม 10 ปี”



งานวิจัยพบว่าการเผาฟางข้าวข้าวและข้าวโพด รวมถึงเศษไม้เศษใบไม้ในผืนป่า ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 กิโลกรัม จะทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5ได้ 2.15 - 4.38 กรัม (ตารางที่ 1) ซึ่งเมื่อนำไปคำนวณกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ทำเกษตรในภาคเหนือตอนบนที่เพิ่มจากจาก 26,225 ตารางกิโลเมตร เป็น 39,061 ตารางกิโลเมตร ในช่วง 10 ปี (2549-2558) บวกกับปัญหาหมอกควันข้ามแดน ที่เกิดเป็นฝุ่นควันจากการเผาของประเทศเพื่อนบ้านหรือการเผานอกเขตพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ที่ลอยเข้ามาในพื้นที่ควบคุมในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ทำให้นักวิจัยคาดว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในช่วงประกาศใช้ห้ามเผาของปีนี้ จะยังคงอยู่ในปริมาณที่สูงเช่นเดิม
“เราคาดว่าในหน้าแล้งปีนี้ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนจะตรวจพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานบ่อยครั้งขึ้น และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะพบค่าเกินมาตรฐานตั้งแต่ก่อนช่วงห้ามเผา ในช่วงห้ามเผา และหลังช่วงห้ามเผา ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่อาจต้องพกพกหน้ากากติดตัวทุกครั้งที่ออกจากบ้านยาวนานกว่า2เดือน”



ผศ.ดร. สมพร กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่ได้จากงานวิจัยนี้ ไม่ได้อยู่ที่การมีข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบและฝุ่นขนาดเล็กหรือแบบจำลองแสดงทิศทางการพัดพามลพิษเหล่านี้ให้รู้ว่าจะไปปกคลุ่มอยู่ที่ไหนเวลาใดเท่านั้น แต่เป็นการสร้างกลไกการเชื่อมต่อข้อมูลวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค รวมถึงหน่วยงานเชิงนโยบาย เช่น คณะกรรมการจัดการไฟป่าและหมอกควันแห่งชาติ เพื่อนำเกิดการนำข้อมูลไปใช้ในการจัดการกับปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 "ตนเองคิดว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่คนในเมืองหลวงกำลังประสบ และที่คนเชียงใหม่ต้องเผชิญมาตลอด 10 ปีนี้ คือโอกาสในวิกฤติที่จะทำให้ทุกคนหันมาสนใจปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางอากาศ และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว การหันมาใช้รถสาธารณะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น" ผศ.ดร. สมพร กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา ข้อมูลและรูป http://www.bangkokbiznews.com

Tags: ผ่อดีดี,PODD,พีโอดีดี,ศูนย์ผ่อดีดีกลาง